Title for table of content..
Palworld โต้กลับ Nintendo อย่างเป็นทางการในศาล
ตามรายงานจาก Games Fray มีทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรในญี่ปุ่นปรากฏตัวในศาลแขวงกรุงโตเกียวในนามของทีม Pocketpair เพื่อเปิดเผยแนวทางการป้องกันตัวในคดีนี้ โดย Pocketpair ใช้แนวทางหลัก 2 ประการ ได้แก่
การโต้แย้งว่าสิทธิบัตรของ Nintendo “ไม่ถูกต้อง” (Invalidity)
และการยืนยันว่า “ไม่มีการละเมิด” (Non-infringement)
นอกจากนี้ยังได้นำเกมและม็อดจำนวนมากมาใช้เป็นหลักฐานประกอบข้อโต้แย้
โต้กลับว่าสิทธิบัตรของ Nintendo ไม่ควรได้รับการรับรอง
Pocketpair ระบุว่า สิทธิบัตรที่ Nintendo ยื่นนั้นไม่ควรได้รับอนุมัติ เนื่องจากมี “สิ่งประดิษฐ์ก่อนหน้า” (prior art) อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งหมายถึงเอกสาร บทความ หรือเกมที่มีลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นก่อนวันที่ยื่นขอสิทธิบัตร
ตัวอย่างเกมที่ Pocketpair ยกมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ก่อนหน้า ได้แก่ Tomb Raider, Final Fantasy XIV, Far Cry 5 รวมถึงเกมของ Nintendo เองอย่าง Pokémon Legends: Arceus, Pokémon Sword and Shield และ Pikmin 3 Deluxe โดยอ้างว่าแนวคิดต่าง ๆ มีอยู่ในเกมเหล่านี้แล้ว

การโต้แย้งแต่ละสิทธิบัตร
สิทธิบัตรที่ 1:
Palworld ยก Rune Factory 5, Titanfall 2, และ Pikmin 3 Deluxe มาชี้ว่ามีระบบขว้างสิ่งของหรือมอนสเตอร์ในทิศทางต่าง ๆ ด้วยการกดปุ่ม
Far Cry 5 และ Tomb Raider แสดงให้เห็นว่า “มีประเภทของสิ่งของที่ขว้างได้หลายแบบ”
Pocket Souls และ Final Fantasy XIV ถูกใช้เพื่อชี้ว่าผู้เล่นสามารถจัดทีมและเลือกตัวละครในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
สิทธิบัตรที่ 2:
ยก Pocket Souls ซึ่งเป็นม็อดของ Dark Souls 3 เป็นฐาน แล้วผสมกับเกมอื่น เช่น Octopath Traveler, Nexomon, Craftopia, Monster Hunter 4G เพื่อชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเหล่านั้นมีอยู่ก่อน
สิทธิบัตรที่ 3:
Palworld ใช้ ARK เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อโต้แย้งว่า “การสลับการขี่สิ่งของหรือสัตว์อย่างลื่นไหล” มีอยู่ก่อนแล้ว และไม่ต้องผสมกับอะไรเพิ่มเติม
หรือจะใช้ ArcheAge, Zelda, หรือ Riders of Icarus เป็นตัวอย่างเสริม
Palworld ยังยืนยันว่า “ไม่มีการละเมิด”
นอกจากจะโต้แย้งว่าสิทธิบัตรไม่ถูกต้องแล้ว Pocketpair ยังระบุว่า หากสิทธิบัตรมีผลจริง เกมของตนก็ยัง “ไม่ละเมิด” เพราะไม่ได้ทำตามข้อจำกัดของสิทธิบัตรทุกข้อ
ตัวอย่างข้อโต้แย้ง:
เกม Palworld กับ Pokémon เป็นคนละแนวกันโดยสิ้นเชิง (RPG vs Survival Crafting)
ระบบกดปุ่มในเกมไม่ได้ใช้ปุ่มเดียวกันเพื่อปล่อยไอเทมหรือคาแรคเตอร์
ไม่มีการแยกหมวดหมู่ตัวละครอย่างชัดเจนตามแบบที่สิทธิบัตรของ Nintendo ระบุ
ใน Palworld ผู้เล่นไม่สามารถขึ้นขี่มอนสเตอร์ได้โดยไม่กดปุ่มเพิ่มเติม
สรุปสถานการณ์
Pocketpair ดูจะเตรียมการมาดีและมีหลักฐานพร้อมแน่นหนา โดยใช้ทั้งแนวทางทางกฎหมายและตัวอย่างจากเกมในอุตสาหกรรมมาสนับสนุนว่าแนวคิดเหล่านี้ไม่ได้เป็นของ Nintendo แต่เพียงผู้เดียว และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ทีมพัฒนายังไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ Palworld จะลง Nintendo Switch 2 ถ้าเครื่องแรงพอ

ที่มา insidergaming